ทาง Longdo Map รวบรวมแหล่งข้อมูลเปิดด้าน ITS (Intelligent Transportation System) และแผนที่ ที่น่าสนใจของประเทศไทย ดังต่อไปนี้
ข้อมูล real-time probes พิกัดตำแหน่งรถแท๊กซี่จาก iTIC
สำหรับท่านที่ศึกษาวิจัยในด้านการขนส่งและจราจร ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์มหาศาล ในการวิเคราะห์และคำนวณต่างๆ เพราะมันคือ ข้อมูลพิกัดตำแหน่ง (ละติจูด, ลองจิจูด) ประมาณทุกๆ 1 นาที ของรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล (แท๊กซี่) จำนวนหลายพันคัน ที่ทาง มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ iTIC (https://www.iticfoundation.org/) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร ได้รวบรวมมาเพื่อการประมวลผลข้อมูลสภาพจราจรแบบ real-time
ข้อมูลนี้ มีขนาดใหญ่มาก โดยแยกเป็นข้อมูลรายเดือน แต่ละเดือนขนาดประมาณ 2-3 GB (gzipped) ดังนั้นถ้าจะนำไปประมวลผลก็คงต้องมีระบบและบุคลากรที่พร้อมจะจัดการข้อมูลด้วย
License: Creative Commons CC-BY (เอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ แต่ต้องให้เครดิตที่มาแหล่งข้อมูล)
นอกจากนี้ iTIC ยังเผยแพร่ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก ได้แก่
- Thailand Location Table ข้อมูลตำแหน่งอ้างอิง สำหรับการอ้างถึงจุดทางแยก และถนนต่างๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตามทางหลวงไปยังเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. TIS Standard 2604 อันนี้เป็นประโยชน์ในการใช้อ้างอิงตำแหน่งต่างๆ แบบที่ให้ระบบอื่นๆ ที่ยึดตามมาตรฐาน สามารถเข้าใจได้
- ข้อมูลเหตุการณ์ทางด้านจราจร และสภาพความติดขัด เช่น อุบัติเหตุ รถเสีย ปิดถนน ฯลฯ ย้อนหลัง โดยข้อมูลจะเป็นตัวเดียวกับที่แสดงใน เว็บและแอป Longdo Traffic (https://traffic.longdo.com/) ของเราเอง แต่จะเป็นตัวข้อมูลย้อนหลัง รายปี แบบดิบๆ เลย
ทาง Longdo ก็เป็นผู้ใช้ข้อมูลในส่วนนี้ โดยนอกเหนือจากแสดงผลแบบ real-time ในบริการ Longdo Traffic แล้ว ก็มีการเอาไปแสดงเป็นสถิติสรุปรายปีใน Longdo Accidents Explorer (https://traffic.longdo.com/accidents-explorer/) ด้วย
แต่เราเชื่อว่าข้อมูลส่วนนี้ยังสามารถเอาไปทำประโยชน์ในวงการศึกษาและวิจัยได้อีกมากมาย ลองดูข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่
- https://iticfoundation.org/service/open-data-sharing/
- https://itic.longdo.com/data/
ข้อมูลพิกัดป้ายรถเมล์ พร้อมเส้นทางเดินรถ และตารางเวลา จาก Namtang (สนข.)
ข้อมูลเปิดจากภาครัฐ! สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้พัฒนา ระบบนำทาง (Namtang) (https://namtang.otp.go.th/) ที่เราสามารถดูเส้นทางรถเมล์, รถไฟฟ้า, เรือ และสามารถนำทางเราไปยังจุดหมาย ด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้
และนอกเหนือจากนั้น สนข. ได้เปิดเผยข้อมูล จุดพิกัดตำแหน่งป้ายรถเมล์, สายรถประจำทาง พร้อมเส้นทาง และตารางเวลา ในรูปแบบมาตรฐาน GTFS (General Transit Feed Specification) ซึ่งเป็นประมาณ de-facto standard ของซอฟต์แวร์ด้าน traffic information
โดยในเฟสแรก จะมีข้อมูลเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก่อน เข้าใจว่าในเฟสถัดๆ ไป คงจะขยายไปครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับประชาชนทั่วไป อาจจะมองว่า ทุกวันนี้กดมือถือเปิดแอป Google ก็อาจจะดูข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่อย่าลืมว่านั่นคือการใช้ระบบที่เขาพัฒนาขึ้น ข้อมูลต่างๆ อยู่ที่ต่างประเทศทั้งหมด! รวมถึงข้อมูลการใช้งานทุกอย่างของท่าน ก็จะถูกเขาเก็บเพื่อไปพัฒนาบริการของเขาให้ดีขึ้น (ซึ่งก็แฟร์ นะจะว่าไป เราไปใช้ของเขาเอง)
แต่ข้อมูลที่ สนข. เปิดเผยตรงนี้ เป็นเสมือนข้อมูลระดับฐานราก ซึ่งนักพัฒนาใดๆ ในประเทศไทย สามารถเอาไปต่อยอดเป็นแอปพลิเคชั่นอะไรต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำฐานข้อมูลพวกนี้ใหม่!
License: Creative Commons CC-BY (เอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ แต่ต้องให้เครดิตที่มาแหล่งข้อมูล)
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://namtang.otp.go.th/opendata และ https://namtang.otp.go.th/
ข้อมูลพิกัดตำแหน่งสถานที่ (POI) จาก Longdo Map / พร้อมไป
อันนี้เป็นผลงานโดยตรงจากทีม Longdo Map เราเอง โดยใน Longdo Map จริงๆ จะประกอบไปด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลจากผู้ผลิตแผนที่เชิงพาณิชย์ (ซึ่งเราไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้) ซึ่งก็ได้แก่ พวกถนน แหล่งน้ำ ขอบอาคาร รวมถึงสถานที่ที่สำคัญๆ และ ข้อมูลสถานที่ผู้ใช้งานปักหมุดกันเข้ามา ซึ่งส่วนหลังนี้ เราถือว่าเป็นข้อมูลจากสาธารณะ ก็ควรเปิดเผยกลับคืนให้กับสาธารณะด้วย
Longdo Map จึงเปิดเผยข้อมูลสถานที่ที่ผู้ใช้ปักหมุดเข้ามา (ในแบบสาธารณะ ไม่ใช่สถานที่ส่วนตัว) กว่า 600,000 จุด ในระบบ Longdo Map (https://map.longdo.com/) และ พร้อมไป (PromptPai – https://promptpai.com/) ทั้งหมด ให้เป็น open data
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
License: Creative Commons Universal
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://map.longdo.com/download/longdomap
หากท่านใดมีแหล่งข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม สามารถแจ้งเข้ามาได้นะครับ เราเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลให้เกิดการใช้งานข้อมูลร่วมกันเพื่อนำไปสู่การต่อยอด คือทางรอดของประเทศในยุคนี้