ประเทศไทยของเรามี อัตราการเสียชีวิตจากการจราจรเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงถึง 32 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2562 (อ้างอิงสถิติจากองค์การอนามัยโลก World Health Organization) และหากมองในระดับจังหวัด กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีอุบัติเหตุมากที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งหากพวกเราอยากรู้สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ รวมถึงบริเวณของพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดนั้น สิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ได้ นั่นคือ “ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุย้อนหลังแบบมีพิกัด” โดยเราได้ใช้ข้อมูลอุบัติเหตุย้อนหลังจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะจราจรไทย (iTIC) ที่ร่วมกับเว็บไซต์ Longdo Traffic เว็บรายงานสภาพจราจรในกรุงเทพและประเทศไทย ในการจัดเก็บ และชุดข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC
จากข้อมูล 2 แหล่งข้างต้นนี้ ทีมพัฒนาแผนที่ออนไลน์ Longdo Map จึงได้ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์สำหรับการดู 100 อันดับกลุ่มพิกัดอุบัติเหตุสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกรุงเทพมหานครหรือประชาชนทั่วไป ได้ดูข้อมูลชุดเหล่านี้ได้ง่าย ๆ
ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกบริเวณที่สนใจ จากรายการอันดับอุบัติเหตุทางด้านซ้าย เพื่อให้แผนที่พาไปยังบริเวณนั้น ๆ ได้ พร้อมแสดงอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณนั้นทั้งหมด (วงกลมสีม่วง) และผู้ใช้สามารถกดดูรายละเอียดโดยสังเขปของอุบัติเหตุเหล่านั้นได้
ในเว็บไซต์นี้ ผู้พัฒนาได้ใช้การแปลงพิกัดเป็นที่อยู่จริง (reverse geocoding) จาก Longdo Map API เพื่อนำพิกัดที่อยู่ในรูปแบบการเก็บแบบ latitude, longitude มาแปลงเป็นที่อยู่ที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย ว่าเป็นถนน ซอย หรือบริเวณใด
โดยมีรายละเอียดการคำนวณดังนี้
- แหล่งข้อมูลที่ใช้
- ข้อมูลตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุจาก iTIC (ข้อมูล open data ดูรายละเอียดได้ทีนี่) โดยในการคำนวณครั้งแรก ใช้ข้อมูลช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 26 พ.ค. 2565 เฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานครจำนวน 34,875 รายการ
- ข้อมูลตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุจาก ThaiRSC โดยในการคำนวณครั้งแรก ใช้ข้อมูลช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 28 มิ.ย.. 2565 เฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานครจำนวน 99,095 รายการ
- แล้วนำมาหาบริเวณที่มีการเกิดอุบัติเหตุในวงกลมรัศมี 100 เมตร มากที่สุด ด้วยอัลกอริทึม Cluster DB Scan และจัดลำดับ TOP 100 บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
ในเว็บไซต์ยังมีการแสดงผล (visualization) ด้วยรูปแบบ Heat Map เพื่อดูแนวโน้มพิกัดอุบัติเหตุทั่วกรุงเทพฯ ในภาพรวมได้ ซึ่งจาก HeatMap จะพบว่า การเกิดอุบัติเหตุใน กทม. ค่อนข้างกระจายทั่ว ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะแค่บางจุด โดยอุบัติเหตุที่เกิดใน TOP 100 บริเวณข้างต้น เป็นเพียงประมาณร้อยละ 10 ของอุบัติเหตุทั้งหมดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์นี้สามารถเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้ในการลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เช่น ปรับปรุงกายภาพของถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยเริ่มจาก 100 บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดก่อน แล้วขยายผลไปยังจุดอื่นๆ ต่อไป